โรงพยาบาล/สถาบัน 11 แห่ง ในพื้นที่ทุ่งพญาไท และย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี จัดงานมหกรรมคุณภาพทุ่งพญาไท ครั้งที่ 10 ประจำปี 2566 สร้างนวัตกรรมคุณภาพ และเครือข่ายที่เชื่อมโยงศักยภาพการบริการประชาชนร่วมกัน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์วชิร คชการ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานเปิดงานมหกรรมคุณภาพทุ่งพญาไท ครั้งที่ 10 ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด "เครือข่ายที่เชื่อมโยงคุณภาพการดูแลผู้ป่วยสู่ความเป็นเลิศ” ซึ่งคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เป็นเจ้าภาพจัดงานในครั้งนี้ โดยมีโรงพยาบาล / สถาบัน ทั้ง 11 แห่ง ในพื้นที่ทุ่งพญาไท และย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ได้แก่ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลรามาธิบดี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี สถาบันประสาทวิทยา โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันโรคผิวหนัง โรงพยาบาลสงฆ์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ และคณะทันตแพทยศาสตร์ เข้าร่วมงาน
งานมหกรรมคุณภาพทุ่งพญาไท จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้เป็นครั้งที่ 10 ภายใต้แนวคิด "เครือข่ายที่เชื่อมโยงคุณภาพการดูแลผู้ป่วยสู่ความเป็นเลิศ” ระหว่างวันที่ 14 – 15 ธันวาคม 2566 ณ ห้องประชุมเทพรัตนทันตกิจสโมสร ชั้น 4 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การประชุมคณะกรรมการการบริหารงานมหกรรมคุณภาพและทีมพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล การประกวดผลงานคุณภาพ พร้อมร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการพัฒนาคุณภาพ รวมถึงแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะที่จะนำไปสู่การต่อยอดขยายผลงานคุณภาพ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด
ศาสตราจารย์ นายแพทย์วชิร คชการ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า งานมหกรรมคุณภาพทุ่งพญาไท เป็นกิจกรรมด้านคุณภาพการดูแลผู้ป่วย ที่สถานพยาบาลชั้นนำทั้ง 11 แห่ง ที่ตั้งในพื้นที่พญาไท ที่มารวมตัวกัน เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าด้านคุณภาพในการดูแลผู้ป่วย ที่ประสานศักยภาพที่เป็นเลิศด้านการดูแลผู้ป่วยในแต่ละสาขา ให้มาเชื่อมโยงศักยภาพที่มีอยู่ เสริมสร้างคุณภาพการให้การบริการร่วมกัน โดยสถานพยาบาลทั้ง 11 แห่ง จากสังกัด กรมการแพทย์ กรมแพทย์ทหารบก กรมสุขภาพจิต และ มหาวิทยาลัยมหิดล ถึงแม้จะมีต้นสังกัดที่ต่างกัน แต่สามารถรวมตัวกันได้ ผ่านกระบวนการคุณภาพ สู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านคุณภาพการดูแลผู้ป่วยและช่วยเหลือด้านทรัพยากร ที่แต่ละแห่งมีอยู่ ระหว่างกัน โดย มีตัวอย่าง ของการประสานศักยภาพที่ดีระหว่างกัน ได้แก่ โครงการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน (YMID) โรงพยาบาลรามาธิบดี ส่งพักฟื้น โรงพยาบาลสงฆ์ โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน โครงการ SMART Med Record RJ-QSNICH โรงพยาบาลราชวิถี และ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี โครงการคลินิกผู้สูงอายุ เพื่อผู้สูงอายุในเขตทุ่งพญาไท สถาบันประสาทวิทยา และ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ การให้บริการทันตกรรมแก่ผู้ป่วย Home Care โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ความร่วมมือดูแลพระภิกษุสงฆ์อาพาตอาการอุดกั้นทางเดินหายใจ โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ โรงพยาบาลสงฆ์ เป็นต้น
ศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิง อติพร อิงค์สาธิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่าโครงการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน (YMID) โรงพยาบาลรามาธิบดี ส่งพักฟื้น โรงพยาบาลสงฆ์ โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ด้วยวัตถุประสงค์ในการให้บริการแก่ผู้ป่วยที่มีภาวะอักเสบเฉียบพลันของไส้ติ่ง ที่อาจมีพื้นที่พักฟื้นหลังการผ่าตัดไม่เพียงพอที่โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงได้ประสานความร่วมมือ ในเครือข่ายย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ร่วมกับ โรงพยาบาลสงฆ์ และ โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ที่จะส่งต่อผู้ป่วยหลังผ่าตัดไส้ติ่ง ให้ไปพักฟื้นดูอาการต่อที่ โรงพยาบาลทั้งสองแห่ง ที่ยังมีศักยภาพเหลืออยู่ ที่จะเปิดโอกาสให้เข้าถึงการรักษาฉุกเฉินได้มากขึ้น ลดภาระของผู้ป่วยที่จะต้องแสวงหาโอกาสในการรับบริการที่มีอยู่อย่างจำกัด
นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า โครงการ SMART Med Record RJ-QSNICH โรงพยาบาลราชวิถี และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติบรมราชชนนี การทำเวชระเบียนทารกแบบเดิม ต้องใช้คนและเวลาในการดำเนินการ เอกสารที่ได้มาไม่ได้ใช้ทุกอัน ในการดูแลทารกที่ป่วยต้องใช้เวลา ทำให้ประสิทธิภาพการดูแลไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากข้อมูลที่ได้ไม่ครบถ้วน การนำระบบ lean และ IT ร่วมกับ Paperless มาใช้ในการพัฒนางานทำให้ได้ข้อมูลครบถ้วน ถูกต้อง ลดการใช้คน ลดขั้นตอนการดำเนินการ เพิ่มประสิทธิภาพ และทารกที่ป่วยเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ทารกปลอดภัย ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน
ลักษณะการให้บริการ : การนำระบบ lean และ IT ร่วมกับ Paperless มาใช้ในการพัฒนางาน
การเชื่อมโยงระหว่างกัน : ประสานเชื่อมต่อข้อมูลโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
ประโยชน์ที่ผู้ป่วยได้รับ /ผลลัพธ์ที่ได้รับ
1. ลดเวลาและขั้นตอนในการขึ้นทะเบียนขอเลข HN และ AN ของสถาบันเด็กฯ จากเดิม 15 นาทีเป็น 5 นาที
2. ทารกที่ป่วยเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย
3. เพิ่มความปลอดภัยและความพึงพอใจของบุคลากรโรงพยาบาลราชวิถี และสถาบันสุขภาพเด็กฯ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า โครงการคลินิกผู้สูงอายุ เพื่อผู้สูงอายุในเขตทุ่งพญาไท ของสถาบันประสาทวิทยา และ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ คลินิกสูงอายุคุณภาพ สถาบันประสาทวิทยา ก่อตั้งโดยทีมสหวิชาชีพ เพื่อให้บริการดูแลผู้ป่วยสูงวัยที่ปัญหาซับซ้อน ทางระบบจิตประสาท ไขสันหลังและโรคร่วมต่าง ๆ โดยมีผู้เชี่ยวชาญ ทางอายุรศาสตร์ จิตเวช Neuropsychiatry จิตวิทยา เวชศาสตร์ฟื้นฟู กายภาพบำบัด จักษุสูงอายุ ทันตกรรมสูงอายุ และประสาทศัลยศาสตร์ โดยมีทีมสนับสนุนคือ เภสัชกร นักโภชนาการ ห้องปฏิบัติการ พยาบาลงานส่งเสริมคุณภาพชีวิต และงานผู้ป่วยนอก ทั้งนี้การดำเนินงานที่ผ่านมา มีผู้ป่วยสูงอายุมารับบริการจากทั้งส่วนกลางและภูมิภาค รวมถึงในพื้นที่ทุ่งพญาไท และญาติของบุคลากรที่ทำงานในโรงพยาบาล ในเขตทุ่งพญาไท อาทิ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ โรงพยาบาลราชวิถี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ทั้งเฉพาะทางและทั่วไป มารับการรักษา ในปัญหาทาง Neuropsychiatry และที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีความเชื่อมโยงกันในการให้บริการ และ ได้มีการเชื่อมโยงทางวิชาการ โดยได้จัดการประชุมวิชาการสูงอายุคุณภาพสหวิชาชีพ Interesting Ageing Case Conference: Multidisciplinary approach เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ดูแลรักษาผู้สูงอายุ และพัฒนาองค์ความรู้การดูแลผู้ป่วยสูงอายุที่ซับซ้อน ให้เข้มแข็ง ในพื้นที่ โรงพยาบาลและสถาบันฯ ในเขตทุ่งพญาไท
ลักษณะการให้บริการ : ให้การบริการด้านการดูแลรักษาและด้านวิชาการ โดยมีสถาบันประสาทวิทยาเป็นแม่ข่ายและเชื่อมโยงเครือข่าย ในระหว่างโรงพยาบาล
การเชื่อมโยงระหว่างกัน : จัดการประชุมสูงอายุคุณภาพ สหวิชาชีพ เริ่มจาการอภิปรายผู้ป่วยสูงอายุที่มีปัญหาซับซ้อนน่าสนใจ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ กับโรงพยาบาลเครือข่าย และการดูแล Pre ageing ป้องกันและรักษาในบุคลากร Ageing และในบุคลากร ภาคผู้ป่วย และ ภาคประชาชนผู้ดูแล
ประโยชน์ที่ผู้ป่วยได้รับ /ผลลัพธ์ที่ได้รับ : ผู้ป่วยสูงอายุมีการส่งต่ออย่างเชื่อมโยงกัน และบุคลากรได้รับความรู้ในการดูผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทันตแพทย์สุรกิจ วิสุทธิวัฒนากร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การให้บริการทันตกรรมแก่ผู้ป่วย Home Care โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน
มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการทันตสุขภาพช่องปากแบบครบวงจร ที่มุ่งการส่งเสริมป้องกัน การรักษา การฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการรักษาและฟื้นฟูสุขภาพช่องปาก สามารถพึ่งตนเองและทำกิจวัตรประจำวันได้ และสร้างเครือข่ายผู้รับการดูแลผู้สูงอายุแบบบูรณาการ
ลักษณะการให้บริการ
1. ส่งผู้ป่วยจาก Home Care มารับการรักษาสุขภาพช่องปากที่ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ
2. ทันตแพทย์จากศูนย์ส่งเสริมฯ ไปให้การดูแลรักษาสุขภาพช่องปากผู้ป่วยที่ Home Care
การเชื่อมโยงระหว่างกัน : ปรึกษาและส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ระหว่างทีมสหวิชาชีพ หากผู้ป่วยมีอาการฉุกเฉินจะได้รับการดูแลและให้การรักษาทันทีที่ Home Care โดยทันตแพทย์จากศูนย์ส่งเสริมฯ
ประโยชน์ที่ผู้ป่วยได้รับ /ผลลัพธ์ที่ได้รับ
1) ผู้สูงอายุได้รับการดูแลและรักษาจากทีมสหวิชาชีพ รวมทั้งญาติหรือผู้ดูแลได้รับความรู้ในการดูแลสุขภาพช่องปาก และมีการแลกเปลี่ยนแนวคิดในการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุที่เหมาะสมอย่างเป็นองค์รวม
2) ผู้สูงอายุได้รับการดูแลและฟื้นฟูสุขภาพช่องปากอย่างทันท่วงทีและต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้มากขึ้น มีสุขภาวะช่องปากที่ดี รวมทั้งช่วยลดการติดเชื้อที่เกิดจากภายในช่องปาก
3) ผู้สูงอายุได้รับการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถดำรงชีวิตที่เหลืออยู่อย่างมีความสุข
4) เกิดเครือข่ายการดูแลผู้สูงอายุแบบบูรณาการในวิทยาเขตพญาไท มีการส่งต่อข้อมูลและแนวทางการดำเนินงานให้ผู้เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป