ค่าฝุ่นพุ่ง! วช.นำวิจัยและนวัตกรรม “รู้ทันฝุ่น PM2.5”
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการเสวนา เรื่อง “รู้ทันฝุ่น PM2.5 เพื่อสุขภาพ ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” โดย ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ (Hub of Talents on Air Pollution and Climate – HTAPC) ร่วมกับ ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม (Hub of Environmental Health) ภายใต้โครงการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ณ ศูนย์สารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อาคาร วช. 8
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า เนื่องด้วยปัจจุบันปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่ ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ ทั้งนี้เพื่อสร้างความเข้าใจและรู้ทันต่อเหตุการณ์ วช.จึงได้นำองค์ความรู้และข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม ได้แก่ (1) การพยากรณ์/คาดการณ์ปริมาณ PM2.5 (2) การลด PM2.5 จากแหล่งกำเนิด (3) การบรรเทาปัญหา PM2.5 ทั้งด้านเศรษฐกิจสังคม สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศและสุขภาพอนามัย (4) การสร้างความรับรู้ของประชาชน และ (5) การบริหารจัดการ PM2.5 มาแลกเปลี่ยนและพูดคุยในข้อมูลที่ถูกต้อง โดยมีผู้เชี่ยวชาญจาก “ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ” ร่วมนำเสนอในประเด็นสำคัญ เพื่อที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ประชาชนรู้ทันฝุ่น PM2.5 ด้วยวิจัยและนวัตกรรมได้อย่างเหมาะสม
สำหรับการเสวนาวิชาการมีประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ประกอบด้วย ประเด็น “ที่มาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5” โดย รศ. ดร.เอกบดินทร์ วินิจกุล จาก สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology: AIT) ประเด็น “ผลกระทบฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ต่อสุขภาพ” โดย รศ. ดร.นพ.บุญรัตน์ ทัศนีย์ไตรเทพ จาก มหาวิทยาลัยมหิดล และประเด็น “วิธีแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5” โดย ดร.สุพัฒน์ หวังวงค์วัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ (Hub of Talents on Air Pollution and Climate – HTAPC)
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า PM2.5 ฝุ่นละอองเล็กจิ๋ว ส่งผลเสียต่อสุขภาพ หลายประเทศต้องเผชิญปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในอากาศ ด้วยประชากรหนาแน่น ความคับคั่งของการจราจร รวมถึงเขม่าควัน และฝุ่นผงจากการก่อสร้าง การเผาไหม้ ซึ่งเสวนาวิชาการในครั้งนี้จะมีส่วนนำไปสู่การเตรียมความพร้อมการร่วมมือกันจากหลายภาคส่วนในการจัดการกับปัญหาฝุ่นละอองรู้เท่าทันฝุ่น PM2.5 ด้วยวิจัยและนวัตกรรมอย่างยั่งยืนต่อไป และ “เราทุกคนเป็นคนก่อมลพิษมากบ้างน้อยบ้าง เราทุกคนต้องช่วยกันป้องกันและแก้ไข”