บพค. เดินหน้าสู่เป้าหมายยกระดับทักษะกำลังคน ส่งเสริมงานวิจัยและการสร้างนวัตกรรม มุ่งสู่แกนนำภาคีเครือข่ายระดับนานาชาติ สอดรับกับความต้องการที่แท้จริงของประเทศ ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เดินหน้ารุกพัฒนากำลังคน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผ่านการสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรม ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล พลังงานสะอาด และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต จัดกิจกรรมเพื่อสื่อสารถึง “โครงการ Care Global Network for Better World ” การยกระดับนักวิจัยไทยเพื่อเป็นแกนนำในภาคีเครือข่ายสหสาขาระดับนานาชาติเพื่อการออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ลดการใช้คาร์บอน พร้อมเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ Energy System Lab ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของ 3 พระจอม ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่มุ่งส่งเสริมนโยบายของภาครัฐต่อความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050
ศ. ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนา สถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา บพค. ได้วางแผนทั้งในปัจจุบันและอนาคตที่จะพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้เพื่อต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ เช่น เทคโนโลยีดิจิทัล พลังงานสะอาด และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เป็นแกนหลักในการกำหนดโจทย์วิจัยและนโยบายของการสนับสนุนให้ทุนวิจัย
นอกจากนี้ บพค. ยังมีวัตถุประสงค์ที่ต้องการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้านการวิจัยและนวัตกรรมองค์ความรู้ นวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ สามารถเชื่อมโยงภาคการศึกษากับภาคอุตสาหกรรมเพื่อนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด จนสามารถยกระดับไปสู่การแข่งขันของประเทศในระดับนานาชาติได้เป็นอย่างดี ประกอบกับโครงการ Care Global Network for Better World ซึ่งโครงการนี้มีความสำคัญอย่างมากต่อการยกระดับนักวิจัยไทยให้เป็นผู้นำในภาคีเครือข่ายนานาชาติด้านการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ลดการปล่อยคาร์บอนให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิจัยไทยและต่างประเทศ ผ่านการจัดประชุมและสัมมนาวิชาการระดับนานาชาติ การสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด การส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ และโครงการอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น โครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลสำหรับแรงงานในอุตสาหกรรม 4.0 โครงการวิจัยและพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อการเกษตรอัจฉริยะ โครงการพัฒนาวัสดุนาโนเพื่ออุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุข เป็นต้น
“บพค. ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่เป็นหน่วยงานบริหารจัดการทุน (Funding Agency) เท่านั้น แต่เรายังทำงานเป็นหน่วยที่จะผลักดันและขับเคลื่อนระบบ ววน. ให้เกิดการสร้างบุคลากรหรือกำลังคนที่มีทักษะใหม่ ๆ ที่พร้อมด้วย Skill Set และเจตคติที่ดีต่อการทำงานที่เกิดความผันผวนทางเทคโนโลยีตลอดเวลา (Technology Disruption) เพื่อให้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมนำพาให้เกิดการสร้าง Ecosystem ของการพัฒนาคน พัฒนาเศรษฐกิจและพัฒนาสังคมให้ทันต่อยุคของดิจิทัลอย่างยั่งยืนต่อไปค่ะ” ศ.ดร.สมปองฯ กล่าว
โอกาสนี้ คณะ บพค. ได้มาร่วมรับฟังการนำเสนอภาพรวมของโครงการดังกล่าว อันเป็นโครงการต้นแบบที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี รวมทั้งได้เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ Energy System Lab ภายในอาคารปฏิบัติการรวมวิศวกรรมศาสตร์ 2 รวมถึงผลงานสิ่งประดิษฐ์ภายในห้องปฏิบัติการด้าน Infrastructure ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งตอบโจทย์นโยบายการส่งเสริมและพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะ/ทักษะขั้นสูงด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามนโยบาย “อว. For EV” ของนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ที่ได้ประกาศวิสัยทัศน์ไปแล้วเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา มุ่งส่งเสริมและสร้างกำลังคนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5000 คนต่อปี
สำหรับ Energy System Lab ปัจจุบันเป็นห้องปฏิบัติการที่ได้รับการสนับสนุนทุนจากปีงบประมาณ 2566 และ 2567 โดยนักวิจัยได้ใช้ทุนสนับสนุนจาก บพค. ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการสร้างเครือข่ายกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ และหน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์ด้าน Infrastructure EV ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ในการพัฒนางานวิจัยร่วมกัน รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยอีกด้วย
ด้าน ศ. ดร.ภูมิ คำเอม หัวหน้าโครงการวิจัย การยกระดับนักวิจัยไทยเพื่อเป็นแกนนำในภาคีเครือข่ายสหสาขาระดับนานาชาติเพื่อการออกแบบและพัฒนานาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ลดการใช้คาร์บอน ได้กล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการฯ ว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่เกิดจากการผนึกความร่วมมือของห้องปฏิบัติการของ 3 พระจอม ได้แก่ 1. Center of Excellence in Theoretical & Computational Science: TaCS-CoE KMUTT จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 2. Renewable Energy Research Center: RERC KMUTNB จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 3. Renewable Energy Applications Laboratory: REAL KMITL จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
โดยห้องปฏิบัติการทั้ง 3 แห่งมีความสัมพันธ์ในการดำเนินการวิจัยร่วมกัน ดังนี้ Center of Excellence in Theoretical & Computational Science (TaCS-CoE) KMUTT จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งเน้นการวิจัยทางด้าน Optimization and Algorithm สำหรับการคำนวณเชิงทฤษฎี จากการคำนวณเชิงทฤษฎีและทฤษฎีการควบคุม (Control Theory) นำมา Implementation and Simulation ด้วยโปรแกรม MathLab (Simulink) เพื่อนำไปใช้จริง ส่วนห้องปฏิบัติการ Renewable Energy Research Center (RERC) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ นำมาพิสูจน์เพื่อยืนยันทฤษฎีว่านำมาใช้จริงได้ในรูปแบบของ การสร้าง Prototype แผงวงจร เช่น EV Charger Wireless Charger Ev care model จากนั้น นำไปประยุกต์ใช้จริงเพื่อต่อยอดเชิงอุตสาหกรรมและห้องปฏิบัติการ
ด้านห้องปฏิบัติการ REAL: Renewable Energy Application Laboratory: Energy System Lab สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งเป็นห้องปฎิบัติการที่รับทุนสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน มุ่งเน้นการทำวิจัยที่ตอบโจทย์ 3 เรื่อง คือ 1. EV infrastructure: Develop EV Chargers และ EV Charging Platform ให้กับ PEA ที่ใช้ในปัจจุบัน ชื่อ PEA-VOLTA ระบบบริหารจัดการสถานีอัดประจุ และ Traction Drive Conversion Kits for EV
“เรียกได้ว่า โครงการ CARE เป็นอีกหนึ่งโครงการที่มุ่งการผนึกกำลังเอาความเข้มแข็งของทั้งบุคลากรวิจัย โครงสร้างพื้นฐาน และเครื่องมือที่มีอยู่ มาสานพลังให้เกิดผลลัพธ์ที่สำคัญต่อระบบ ววน. ของประเทศ อันเป็นกลไกและเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นแนวหน้าและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานนวัตกรรมได้เป็นอย่างดี สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน” ศ.ดร.สมปองฯ กล่าวสรุป