สำนักงาน คปภ. ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัย กรณีไฟไหม้โรงงานที่เขตลาดกระบัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย

   เมื่อ : 14 พ.ค. 2568


สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่โรงงาน/คลังเก็บสินค้าขนาดใหญ่ซึ่งเป็นสถานประกอบการของบริษัท สยามเฮ้าส์ แอนด์ โฮม จำกัด และบริษัท ฮั่นโฟนิกซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนฉลองกรุง ช่วงซอยฉลองกรุง 55 แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ที่เกิดเพลิงไหม้
วันที่ 12 พฤษภาคม 2568 

 

นายคณานุสรณ์ เที่ยงตระกูล ผู้ช่วยเลขาธิการ สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย พร้อมด้วยสำนักงาน คปภ. เขตบางนา และเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ตรวจสอบและเก็บข้อมูลในพื้นที่โรงงาน/คลังเก็บสินค้า
เครื่องครัว “KING Kitchen” เพื่อให้ความช่วยด้านการประกันภัย จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า เหตุดังกล่าวไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ส่วนความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เกิดเพลิงไหม้นั้น สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลการทำประกันภัยผ่านระบบ IBS (Insurance Bureau System) และระบบรายงานข้อมูลอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์พบว่า โรงงาน/คลังเก็บสินค้าของทั้งสองบริษัท

 

 ได้มีการบริหารจัดการความเสี่ยงภัยด้วยการทำประกันภัยไว้ โดยบริษัท สยามเฮ้าส์ฯได้ทำกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินไว้ 1 กรมธรรม์ จำนวนเงินเอาประกันภัย 203500000 บาท ขณะที่บริษัทฮั่นโฟนิกซ์ฯ ได้ทำกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินไว้ 2 กรมธรรม์ จำนวนเงินเอาประกันภัยรวม 487000000 บาท


ทั้งนี้ กรมธรรม์ทุกฉบับได้รับประกันภัยไว้โดย บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีสัดส่วนการรับประกันภัยไว้ร้อยละ 60โดยมีบริษัทประกันภัยร่วมอีกสองแห่งคือ บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เออร์โกประกันภัย (ประเทศไทย)จำกัด (มหาชน) แบ่งสัดส่วนการรับประกันภัยไว้บริษัทละ ร้อยละ 20 ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้ประสานบริษัทประกันภัยทั้งสามแห่งเร่งดำเนินการสำรวจภัยเพื่อเยียวยาความเสียหายอย่างรวดเร็วต่อไป
สำนักงาน คปภ. พร้อมให้ความช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนด้านประกันภัย
 

หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186 ทั้งนี้ อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา และกับทุกคนจึงควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ