เพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ รุ่น 1 ปลูกฝังทักษะใหม่ ฝึก “เยาวชนน่าน” ทำธุรกิจจริง ขับเคลื่อนความยั่งยืนในจังหวัดบ้านเกิด

   เมื่อ : 11 มิ.ย. 2566

มูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา ดำเนินโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ รุ่นที่ 1 มุ่งพัฒนานักเรียนมัธยมปลายจาก 8 โรงเรียน ในจังหวัดน่าน ให้ได้เรียนรู้ประสบการณ์ทำธุรกิจจริง ผ่านหลักสูตร 3 แคมป์ ใน 66 วัน จากวิทยากรมืออาชีพและนักธุรกิจตัวจริง ชูความสำเร็จจากพัฒนาการของเยาวชนที่ได้รับทั้งองค์ความรู้ใหม่ มีทักษะใหม่ และได้ประสบการณ์จริงจากการทำธุรกิจทั้งกระบวนการ ผ่านการตั้งบริษัทจำลองพัฒนา 8 สินค้า จากสิ่งที่มีในท้องถิ่น โดยมูลนิธิฯ สนับสนุนเงินทุนเริ่มต้นในการทำธุรกิจ ช่วยให้เยาวชนได้เรียนรู้การเพิ่มมูลค่าให้แก่วัตถุดิบท้องถิ่น พัฒนาสินค้า สร้างแบรนด์ และขายจริง ได้ความรู้และประสบการณ์ที่มีค่าติดตัว เมื่อได้เป็นผู้ประกอบการในชีวิตจริง ช่วยเพิ่มโอกาสแห่งความสำเร็จ และใช้ชีวิตได้อย่างสมดุล รวมถึงสามารถแบ่งปันความรู้และวิธีการให้ชุมชนได้รับโอกาสเดียวกันได้ เพื่อร่วมสร้างความยั่งยืนในจังหวัดบ้านเกิด

ดร.อดิเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ รุ่น 1 ปลูกฝังทักษะใหม่ ฝึก “เยาวชนน่าน” ทำธุรกิจจริง ขับเคลื่อนความยั่งยืนในจังหวัดบ้านเกิดเปิดเผยว่า มูลนิธิฯให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคนผ่านระบบการศึกษาที่เป็นกลไกพื้นฐานทางความคิด ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะลดทอนความเหลื่อมล้ำในสังคมได้โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน มูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญาจึงได้ริเริ่มโครงการ เพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ รุ่นที่ 1 ภายใต้แนวคิด “66 วันเรียนรู้ชีวิต ทำธุรกิจให้เป็นจริง” ที่เสริมสร้างสมรรถนะของนักเรียนให้มีองค์ความรู้ใหม่ ทักษะใหม่ และประสบการณ์ใหม่ ที่แตกต่างจากการเรียนในห้องเรียนผ่านการลงมือปฏิบัติจริง โดยมุ่งหวังให้เยาวชนได้พัฒนาทักษะและเสริมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต สามารถใช้ชีวิตในบ้านเกิด สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ พัฒนาชุมชน และช่วยขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนในจังหวัดน่าน
การดำเนินโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ รุ่นที่ 1 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 รวม 66 วัน ได้เปิดโอกาสให้เยาวชนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-5 ที่เคยผ่านห้องเรียนเพาะพันธุ์ปัญญา จาก 8 โรงเรียนในเมืองและพื้นที่ห่างไกลของจังหวัดน่าน โรงเรียนละ 5 คน รวม 40 คน ได้เรียนรู้ และลงมือปฏิบัติจริงในการทำธุรกิจผ่านกิจกรรม 3 แคมป์ ได้แก่ แคมป์ที่ 1 “กล้าเรียน” ปูพื้นฐานสร้างไอเดียธุรกิจ ความเป็นไปได้ และเรียนรู้สิ่งจำเป็นในการทำธุรกิจ แคมป์ที่ 2 “กล้าลุย” บุกตลาด ลงมือขาย พบลูกค้าตัวจริง เพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ แคมป์ที่ 3 “กล้าก้าว” รายงานและนำเสนอผลประกอบการโดยเยาวชนได้เรียนรู้องค์ความรู้ใหม่และคุณค่ามิติต่าง ๆ ในการทำธุรกิจที่ไม่ได้อยู่ในหลักสูตรการเรียนระดับมัธยมทั่วไป ตั้งแต่วิธีการคิดหาไอเดียที่ตลาดต้องการ การทดสอบผลิตภัณฑ์ในตลาด กระบวนการตั้งราคา การทำแพ็คเก็จ การทำบัญชีธุรกิจ การบริหารจัดการบริษัท การตลาด และกระบวนการเปิดและปิดบริษัท การบริหารคน รวมทั้งมีความเข้าใจคุณค่าของทุนในการทำธุรกิจ และการสร้างผลตอบแทน ซึ่งเยาวชนทั้ง 8 โรงเรียน สามารถนำสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาเพิ่มมูลค่าได้อย่างน่าสนใจ ผ่านการเลือกสรรสินค้าหรือวัตถุดิบในพื้นถิ่น พัฒนาเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ สร้าง แบรนด์เพื่อนำเสนอต่อผู้บริโภค และขยายตลาดวงกว้างมากขึ้น ได้แก่

o โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 จังหวัดน่าน (คุกกี้ แบรนด์ Ten Bites) พัฒนาคุกกี้ที่มีส่วนผสมของวัตถุดิบที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชาติพันธุ์ในจังหวัดน่าน ควบคู่กับการใช้ผ้าปักลายซึ่งเป็นหัตถกรรมท้องถิ่นของแต่ละชนเผ่า มาเป็นเครื่องมือสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมการขาย
o โรงเรียนพระธาตุพิทยาคม (กาแฟ และพิซซ่าม้ง แบรนด์มองเดอพี) จำหน่ายกาแฟจากบ้านมณีพฤกษ์ซึ่งเป็นแหล่งกาแฟที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในไทย และยกระดับพิซซ่าม้ง อาหารวัฒนธรรมของชนเผ่าซึ่งทำกินกันเฉพาะในช่วงเทศกาลปีละครั้ง ให้เป็นของทานเล่นที่เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น
o โรงเรียนเมืองลีประชาสามัคคี (ข้าวแคบแบรนด์ลินา) พัฒนาข้าวแคบที่มีรสชาติหลากหลาย ที่ทำให้อาหารทานเล่นซึ่งเป็นสินค้าชุมชนเป็นที่รู้จัก มีรสชาติดี ทานง่าย และเข้าถึงกลุ่มคนมากขึ้น
o โรงเรียนเชียงกลาง “ประชาพัฒนา” (น้ำพริก แบรนด์น้ำพริกสามช่า) จำหน่ายน้ำพริกมะเขือเทศ ที่เสิร์ฟพร้อมสาหร่ายไกยี สาหร่ายน้ำจืดที่หาได้ในจังหวัดน่าน ด้วยสูตรเด็ดสามสไตล์

o โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคารจังหวัดน่าน (สแน็คบ็อกซ์ แบรนด์ NALANA) ออกแบบสแน็คบ็อกซ์แห่งแรกที่ยกระดับ 6 ขนมของดังที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชนในจังหวัดน่าน รวมอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่มีลวดลายพิเศษ เพิ่มมูลค่าของฝากจากน่าน
o โรงเรียนสา (ข้าวหลามถอดเสื้อ แบรนด์หลามรวย) พัฒนาข้าวหลามถอดเสื้อที่แก้ปัญหาข้าวหลามให้สามารถแกะรับประทานได้ง่ายขึ้น จัดส่งและเก็บได้หลายวัน มีไส้หลากหลายรสชาติ และใช้ของดีท้องถิ่นอย่างมะแขว่น มาเป็นส่วนผสมของไส้ หนึ่งในคู่แข่งข้าวปั้นของญี่ปุ่น
o โรงเรียนท่าวังผาพิทยาคม (น้ำสลัดอะโวคาโด แบรนด์ KADO) พัฒนาน้ำสลัดที่ทำจากเนื้ออะโวคาโดแท้ พืชเศรษฐกิจอีกชนิดของจังหวัดน่าน ยกระดับอาหารคลีนให้มีรสชาติกลมกล่อม เเละให้ความรู้สึกละมุนไปกับดอกเกลือสินเธาว์จังหวัดน่าน
o โรงเรียนปัว (เนยถั่วมะมื่น แบรนด์มะมื่นบัตเตอร์) เพิ่มมูลค่ามะมื่นของดีท้องถิ่นที่ได้ชื่อว่าเป็น อัลมอนด์เมืองไทยแต่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก เป็นเนยถั่วคุณภาพดีสัญชาติไทย ที่สามารถเสิร์ฟร่วมกับอาหารเช้าสไตล์ของตะวันตกได้ดี
นอกจากความรู้ที่เยาวชนได้เรียนรู้ในภาคทฤษฏี และประสบการณ์จริงจากกูรูในด้านต่างๆ การปฏิบัติจริงผ่านการพัฒนาสินค้าต่าง ๆ ของเยาวชนที่ต้องผ่านกระบวนการคิด กระบวนการจัดทำ จนถึงการนำผลิตภัณฑ์มาขายจริง ทำให้เยาวชนเกิดซอฟต์สกิล พัฒนาการและการเรียนรู้ต่างๆ อาทิ

การวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ จัดตั้งบริษัทจำลองทำธุรกิจตามองค์ความรู้ ควบคู่กับการลงมือปฏิบัติจริงทั้งกระบวนการ ตั้งแต่คิดไอเดียธุรกิจ พัฒนาสินค้า วางแผนงาน ขายสินค้าจริง และรายงานผลประกอบการ รวมทั้งได้เรียนรู้ทักษะการแก้ปัญหา และความมุ่งมั่นที่จะทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมาย โดยแม้ว่าจะต้องเผชิญอุปสรรค ปัญหา และความท้าทายในกระบวนการทำงานที่แตกต่างกันออกไป แต่ทุกทีมก็ไม่ท้อถอยที่จะหาหนทางคิดวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหา เรียนรู้ในการล้มแล้วลุก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ภายใต้ความท้าทายของระยะเวลาที่จำกัด
อีกทั้งได้เรียนรู้และเห็นความสำคัญของการทำงานเป็นทีม ทั้งการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบตามทักษะความชำนาญของแต่ละคน การไว้วางใจและเชื่อใจกันในทีม การเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายได้เรียนรู้ที่จะรับฟังและหาจุดร่วมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่มีร่วมกัน
ทั้งนี้ พัฒนาการและการเรียนรู้ต่าง ๆ ข้างต้นที่เกิดขึ้นกับเยาวชน ตลอด 66 วัน ทางมูลนิธิฯ ได้ติดตามและประเมินให้คำแนะนำต่อเนื่อง อย่างโปร่งใส และเป็นระบบ ซึ่งพบว่าเยาวชนทุกทีมมีผลลัพธ์พัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยผู้ที่ได้รับผลการประเมินพัฒนาการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคารจังหวัดน่าน โรงเรียนท่าวังผาพิทยาคม และโรงเรียนปัว นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 จังหวัดน่าน ที่ได้รับการประเมินว่าเป็นทีมที่ล้มแล้วลุก สามารถปรับตัว แก้ปัญหา และเดินหน้าโครงการได้อย่างต่อเนื่องแม้จะเจออุปสรรคก็ตาม

ดร.อดิศวร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มูลนิธิฯ ไม่ได้มุ่งเน้นคัดเลือกเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการที่เป็นนักเรียนซึ่งมีความเป็นเลิศทางวิชาการ แต่ส่งเสริมเยาวชนที่สนใจจะเป็นผู้ประกอบการ ช่วยให้มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์จริง ซึ่งจะทำให้เยาวชนสามารถลดความเสี่ยงในการเป็นนักธุรกิจอนาคตลงได้ และมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญาขอขอบคุณการสนับสนุนจากโรงเรียนและผู้ปกครอง ที่ไว้วางใจส่งนักเรียนและบุตรหลานเข้าร่วมกิจกรรม และร่วมกันผลักดันให้เยาวชนสามารถดำเนินกิจกรรมจนบรรลุเป้าหมาย จึงนับเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นจาก ผู้ปกครอง โรงเรียน และมูลนิธิฯ ในการทำงานร่วมกัน

ทั้งนี้ ผลลัพธ์ที่สำคัญที่เกิดขึ้นในเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ ไม่ใช่ผลการดำเนินธุรกิจที่วัดได้ด้วยยอดขาย แต่เป็นการที่เยาวชนได้เรียนรู้องค์ความรู้ใหม่ ทักษะ และประสบการณ์ โดยเฉพาะการได้รับโอกาสในการเป็นผู้ประกอบการครั้งแรกในชีวิต ได้ลงมือทำธุรกิจทั้งกระบวนการ สิ่งเหล่านี้ จะเป็นประสบการณ์ที่มีค่ามากในอนาคต และเมื่อได้เป็นผู้ประกอบการจริง ต้องใช้เงินของตัวเองในการทำธุรกิจ อย่างน้อยที่สุดจะได้นำความรู้เหล่านี้ไปใช้ เพิ่มโอกาสแห่งความสำเร็จ และสามารถแบ่งปันความรู้และวิธีการให้ชุมชนได้รับโอกาสเช่นเดียวกันนี้ได้ หรือแม้ว่านักเรียนกลุ่มนี้จะเติบโตไปทำงานในสายอาชีพอื่น เชื่อว่าประสบการณ์และทักษะที่ได้จากแคมป์นี้ จะเป็นประโยชน์ทั้งในการทำงานและการใช้ชีวิตในอนาคตได้อย่างสมดุล ทั้งหมดนี้ คือ ปรัชญาการทำงานของมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญาที่จะพัฒนาความรู้และทักษะ ด้วยการสร้างประสบการณ์จริงให้แก่เยาวชนเพื่ออนาคตที่ยังยืน และจะเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างโอกาสทางการศึกษาจากประสบการณ์จริง พัฒนาทุนมนุษย์ให้มีสมรรถนะในการพัฒนาและสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศต่อไป

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ